NPEA-KK

สมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น

ข้อบังคับสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น

หมวดที่ ๑
ข้อความทั่วไป

ข้อ ๑ สมาคมนี้มีชื่อว่า "สมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น"
อักษรย่อเป็นภาษาไทยว่า ส.อ.น. จังหวัดขอนแก่น
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Non-Formal Private Education Association of Khon Kaen
อักษรย่อเป็นภาษาอังกฤษ NPEA Khon Kaen
ข้อ ๒ สำนักงานใหญ่ของสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น
ตั้งอยู่ ณ ๒๐๐/๒๑๗ หมู่ ๒ ถนนชัยพฤกษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ๔๐๐๐๐
ข้อ ๓ เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูป ลูกโลกประกอบด้วยเส้นรุ้ง ๕ เส้น เส้นแวง ๔ เส้น และรูปแผนที่ประเทศไทยอยู่ ภายใน ด้านข้างมีริ้วแนวตั้งขนาบอยู่ด้านละ ๓ ริ้ว เครื่องหมายดังกล่าวหมายถึง ความเข้มแข็งของเครือข่ายการศึกษา เอกชนนอกระบบทั่วประเทศ ข้างใต้ภาพมีข้อความ ส.อ.น.จังหวัดขอนแก่น

ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ จังหวัดขอนแก่น มีดังต่อไปนี้
๔.๑ เป็นศูนย์กลางของภาคการศึกษาเอกชนนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น และเป็นตัวแทนของ
สมาชิกในการติดต่อประสานงานรับฟัง และเสนอความคิดเห็น เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมพิจารณาตัดสินใจในส่วนที่
เกี่ยวข้องกับการศึกษาเอกชนนอกระบบ กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กร
วิชาชีพในราชอาณาจักรไทย ในจังหวัดขอนแก่น
๔.๒ พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบในจังหวัดขอนแก่นมีมาตรฐานทาง วิชาชีพ และมีคุณภาพทางวิชาการ
๔.๓ เสนอขอเพิ่มเติม แก้ไข และผลักดันให้การออกนโยบายและการออกกฎหมายของภาครัฐก่อให้เกิด ประโยชน์กับการจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบอย่างยั่งยืน
๔.๔ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตและเผยแพร่สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และศีลธรรมอันดีงาม
๔.๕ ยกย่องเกียรติยศศักดิ์ศรีให้แก่บุคลากรของภาคการศึกษาเอกชนนอกระบบและผู้มีส่วนสนับสนุนที่ทำ คุณประโยชน์แก่ส่วนรวม
๔.๖ เสริมสร้าง ความสามัคคี และความเข้มแข็งของสมาชิกให้เกิดเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรวิชาชีพ
๔.๗ ผลักดันให้โรงเรียนเอกชนนอกระบบและบุคลากรของการศึกษาเอกชนนอกระบบได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เหมาะสมตามที่กฎหมายเกี่ยวข้องกำหนดไว้ และเทียบเท่ากับบุคลากรของการศึกษาเอกชนทั่วไป
๔.๘ ดำเนินการ ส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาวิจัยชั้นสูงที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านการศึกษาเอกชนนอก ระบบ
๔.๙ เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศล และองค์การสาธารณะประโยชน์เพื่อสาธารณะ ประโยชน์
๔.๑๐ ส่งเสริมการบริหารงาน ในโครงการ /กิจกรรม ของสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ
๔.๑๑ ไม่จัดให้มีโต๊ะสนุกเกอร์และการพนันทุกประเภท
๔.๑๒ ไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่ ๒
สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๓ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้บริหารโรงเรียนเอกชนนอกระบบในจังหวัดขอนแก่นที่ได้รับ อนุญาตจัดตั้งจาก กระทรวงศึกษาธิการ
๕.๒ สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคลากรของโรงเรียนเอกชนนอกระบบในจังหวัดขอนแก่น ตามที่กฎหมายกำหนด
๕.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติ ให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
๖.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นสุภาพชน
๖.๓ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคที่สังคมรังเกียจ
๖.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ และการต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
๖.๕ ไม่เคยถูกลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกของสมาคมหรือสโมสรใดเพราะเหตุประพฤติชั่ว
อย่างร้ายแรงหรือทุจริต
๖.๖ สมัครใจและยินดีปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของสมาคม
ข้อ ๗. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
๗.๑ สมาชิกสามัญไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก เสียค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ ๓๐๐ บาท
๗.๒ สมาชิกสมทบไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก เสียค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ ๓๐๐ บาท
๗.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ข้อ ๘. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัคร
ตามแบบของสมาคมต่อกรรมการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๒ คน และให้กรรมการนำรายชื่อ
ผู้สมัคร ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ในการประชุมประจำเดือน
ข้อ ๙. เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่า บำรุงสมาคมให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับ ตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าบำรุง สมาคมภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัคร คราวนั้นเป็นอันยกเลิกการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกหรือการลาออกไม่มีการคืน ค่าสมาชิก
ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการ
ได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ ๑๑. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตาย
๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๑.๔ ต้องหาคดีอาญา โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยไม่รอลงอาญา
๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการ ได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจาก
ทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตนนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม โดยมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม หรือสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด
๑๑.๕ ครบระยะเวลาการเป็นสมาชิกประจำปีโดยนับปีปฏิทิน และไม่ได้ต่ออายุสมาชิกเมื่อพ้นกำหนดแล้วกว่า ๓๐ วัน
ข้อ ๑๒. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๒.๑ สมาชิกสามัญ มีสิทธิ ดังนี้
(๑) มีสิทธิ ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกสมาคม , กรรมการบริหารสมาคม ,กรรมการ สมาคม
(๒) มีสิทธิลงคะแนนเลือกนายกสมาคม , อุปนายกสมาคม , กรรมการ
(๓) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
(๔) มีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
(๕) มีสิทธิส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมทุกประเภทที่สมาคมจัดขึ้น
(๖) มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
(๗) มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะ
กรรมการบริหารสมาคม ให้จัดให้มีประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น
(๘) ใช้ชื่อและเครื่องหมายของสมาคมได้ตามความเหมาะสม
๑๒.๒ สมาชิกสมทบ มีสิทธิและหน้าที่ ดังนี้
(๑) มีสิทธิ ได้รับการเสนอชื่อ เป็นกรรมการสมาคม
(๒) มีสิทธิ เข้าร่วมประชุมทุกประเภทที่สมาคมจัดขึ้น
(๓) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
(๔) มีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
(๕) มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
(๖) มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะ กรรมการบริหารสมาคม ให้จัดให้มีประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น
(๗) ใช้ชื่อและเครื่องหมายของสมาคมได้ตามความเหมาะสม
๑๒.๓ สมาชิกทุกประเภท มีหน้าที่ดังนี้
(๑) มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
(๒) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของสมาคมและมติของที่ประชุม
(๓) มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
(๔) มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
(๕) มีหน้าที่ชำระค่าสมาชิกที่มีการกำหนดขึ้นตามข้อบังคับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมติของคณะกรรมการบริหารสมาคม

หมวดที่ ๓
การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ ๑๓. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๑๒ คน อย่างมากไม่เกิน ๒๕ คน คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง จากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ๑ คน และอุปนายก ๒ คน สำหรับกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่าง ๆ ของสมาคมตามที่กำหนดไว้ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคม มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมการติดต่อกับหน่วยงาน และบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๓.๒ อุปนายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม และปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกสมาคมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกสมาคมตามลำดับตำเป็นผู้กระทำแทน
๑๓.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๓.๕ ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๓.๖ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับ
เหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก
และบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
๑๓.๘ กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มี
ขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ให้ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ ๑๔. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี เมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบตาม วาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาต ให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนด ตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อ คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ทำการส่ง และรับมอบงาน กันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วันนับตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ ๑๕. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิก สามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง นั้น อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ ๑๖. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระก็ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๖.๑ ตาย
๑๖.๒ ลาออก
๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ
๑๖.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓
ข้อ ๑๗. กรรมการบริหารที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคม ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์ อักษรต่อนายกสมาคม และจะมีผลเมื่อคณะกรรมการบริหารได้รับทราบการลาออกนั้นแล้ว
ข้อ ๑๘. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคม
๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่
ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้ และไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี
๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา ที่ปรึกษาสมาคมกิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และ ประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ
ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วันนับแต่ วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๘.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๘.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ ๑๙. คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องประชุมกันอย่างน้อย ๔ เดือนครั้งทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหาร กิจการของสมาคม
ข้อ ๒๐. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะ ถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้าง มากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการบริหารสมาคมที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำ หน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๔
การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๒. การประชุมใหญ่ของสมาคม มี ๒ ชนิด
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๓. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายในเดือนธันวาคมของปี
ข้อ ๒๔. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นสมควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วย
การเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิก ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารโดย จัดให้มีประชุมขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลา ตามวรรคสอง สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนด ตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อ ๒๕. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการ แจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุม ไว้ ณ สำนักงาน ของสมาคมไม่น้อย กว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ ๒๖. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
๒๖.๑ รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา
๒๖.๒ แถลงกิจการผลการดำเนินงานของสมาคมที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๖.๓ แถลงบัญชีรายรับ – รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบและอนุมัติ
๒๖.๔ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
๒๖.๕ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
๒๖.๖ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ ๒๗. การประชุมใหญ่ของสมาคมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็น องค์ประชุม เว้นแต่ข้อบังคับของสมาคมจะกำหนดองค์ประชุมไว้เป็นอย่างอื่น
ในการประชุมใหญ่ครั้งใด ถ้าไม่ได้องค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ และการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอ ของสมาชิก ก็ให้งดการประชุมแต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอให้คณะกรรมการของสมาคมเรียก ประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ ไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม
ข้อ ๒๘. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้าง
มากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขา
ข้อ ๒๙. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่
สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคม ที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๕
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๓๐. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคมเงินสดของสมาคมถ้ามี ให้นำฝากไว้ในธนาคารใดธนาคารหนึ่งในเขตท้องที่ใกล้เคียง หรือตามแต่คณะกรรมการบริหารสมาคม จะเห็นสมควร
ข้อ ๓๑. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือเลขานุการ
ลงนามร่วมกับอุปนายกคนที่ ๑ หรือเหรัญญิก พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ ๓๒. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐.- บาท (-หนึ่งหมื่นบาทถ้วน-) ถ้าเกิน กว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสมาคม และคณะ กรรมการบริหารสมาคมจะอนุมัติให้จ่ายเงิน ได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐.- บาท (-ห้าหมื่นบาทถ้วน-) ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเกินนี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ใหญ่ของสมาคม
ข้อ ๓๓. ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐.- บาท (-หนึ่งหมื่นบาทถ้วน-) ถ้า
เกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ ๓๔. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการรับ
หรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับ
เหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการบริหารสมาคม หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ ๓๖. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหารสมาคม และสามารถจะเรียกกรรมการบริหารสมาคมหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของ สมาคมได้
ข้อ ๓๗. คณะกรรมการสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ ๖
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓๘. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นและองค์ประชุมใหญ่จะต้องมี สมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมดมติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสี่ยง ไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๓๙. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของ
กฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญที่เข้า ร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๔๐. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระ
บัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของมูลนิธิชัยพัฒนา

หมวดที่ ๗
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๑. การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ ๔๒. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับของ สมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ ๔๓. สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตาม
วัตถุประสงค์ของสมาคมเอง

หมวดที่ ๘
บทเฉพาะกาล

ข้อ ๔๔. ข้อบังคับฉบับนี้ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
เป็นต้นไป
ข้อ ๔๕. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มก่อการทั้งหมด
เป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป